เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อคืออิสรภาพของเกตรกรรายย่อย

OECD ประเมินจากข้อมูลการสำรวจของบริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำว่าสัดส่วนการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ (Farm Saved Seed) ของเกษตรกรทั่วโลกในพืชเศรษฐกิจสำคัญๆนั้นอยู่ที่ราวๆ 60% แต่ก็ย้ำเตือนว่าตัวเลขอาจสูงมากกว่านี้ก็ได้ จากข้อจำกัดการศึกษาของบริษัทวิจัยตลาดที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการปลูกพืชในวิถีดั้งเดิมของชุมชนเกษตรกรรมในประเทศต่างๆ โดยผลการสำรวจพบว่า ชนิดพืชที่เกษตรกรยังคงเก็บพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวได้ไปปลูกต่อมากๆตั้งแต่ 60% ขึ้นไป คือ มันฝรั่ง ข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ซึ่งเป็นพืชอาหารหลักของหลายประเทศทั่วโลก มีเฉพาะพืชอุตสาหกรรมเช่น ทานตะวัน และข้าวโพด ที่สัดส่วนการซื้อพันธุ์ปลูกในทุกฤดูกาลค่อนข้างสูง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ไฮบริดที่เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อไม่ได้อยู่แล้ว

สำหรับประเทศไทย เฉพาะสายพันธุ์ข้าวอย่างเดียว กรมการข้าวระบุว่า 49% ของชาวนาทั่วประเทศยังคงเก็บพันธุ์ข้าวในแปลงของตนเองไปปลูกต่อ และ 25% ซื้อพันธุ์ข้าวจากเพื่อนบ้านเพื่อเอาไปทำพันธุ์ ซึ่งหมายความว่าสัดส่วนการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อยังมีสัดส่วนสำคัญมาก ในระบบเกษตรกรรมไทย

การเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชนเกษตรกรรม และได้รับการรับรองภายใต้สนธิสัญญาพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและเกษตรกรรม (ITPGR-FA) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เนื่องจากสิ่งนี้นอกจากจะเป็นหลักประกันเรื่องความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์พืชอย่างหลากหลายของชุมชนเกษตรกรรมด้วย แต่ในสายตาของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ที่ผลักดันระบบสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต และ UPOV1991 เห็นว่าการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหากำไร สมาคมเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศเคยประเมินเบื้องต้นเมื่อปี 2007 ว่า จากการสำรวจใน 18 ประเทศ การเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อโดยเกษตรกรในประเทศเหล่านั้นทำให้พวกเขาสูญเสียประโยชน์ไปมากถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

สมาคมของบริษัทเมล็ดพันธุ์เห็นว่าการเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ “ไม่สร้างแรงจูงใจ” ให้เกิดการปรับปรุงสายพันธุ์พืชใหม่ๆ และต้องการให้ผลักดัน UPOV1991 แทนกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 (ซึ่งที่จริงให้สิทธิผูกขาดการขายเมล็ดพันธุ์พืชใหม่แต่เพียงผู้เดียวให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์อยู่แล้ว เพียงแต่ยังคงให้สิทธิเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ)

ความหวังของบริษัทเมล็ดพันธุ์และกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จาก CPTPP โดยผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP ยังไม่สำเร็จในรอบการประชุมอย่างเป็นทางการของภาคีในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นี้ แต่เชื่อว่าพวกเขาจะผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านกรรมาธิการศึกษา CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะต้องสรุปผลการศึกษาอย่างเป็นทางการในเดือนหน้า และทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลซึ่งกำลังจะมีการประกาศชื่ออย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้

ที่มา: BIOTHAI Facebook