เป็นไปตามคาด การประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 โดยกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา เป็นการแก้ไขกฎหมายตามแนวทาง UPOV1991 ตอบสนองแรงผลักดันของสหรัฐอเมริกา เอื้อประโยชน์ต่อมอนซานโต้และบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ การเร่งรีบแก้ไขกฎหมายนี้จะเป็นข้ออ้างในการเข้าร่วม TPP ไปพร้อมๆกัน เพราะสามารถอธิบายต่อสาธารณชนได้ว่าการเข้าร่วม TPP ไม่ต้องทำให้ประเทศไทยต้องแก้กฎหมายภายในตามความประสงค์ของสหรัฐแต่ประการใด
การประชุมซึ่งดำเนินไปอย่างเร่งรีบและรวบรัด ผู้เข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่เพิ่งได้รับจดหมายการประชุมเพียง 1-2 วันก่อนวันจัดประชุม โดยมิได้มีเอกสารเกี่ยวกับรายละเอียดการแก้ไขแม้แต่หน้าเดียวแจกจ่ายต่อผู้เข้าร่วมประชุม พยายามเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเวลาเพียงครึ่งวัน อีกทั้งแจ้งให้ที่ประชุมทราบตอนเริ่มประชุมว่า ให้เวลาผู้เข้าร่วมมีเวลาเพียง 3 วันในการส่งความเห็นเพิ่มเติม บ่งชี้ว่าผู้มีอำนาจประสงค์จะรีบผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้โดยเร็ว ทั้งนี้ไม่รวมถึงความพยายามในการปกปิดข่าว โดยผู้บริหารระดับสูงของกรมฯปฏิเสธต่อสื่อมวลชนว่าไม่มีการประชุมใดๆทั้งสิ้นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเมื่อวันที่ 16 ที่ผ่านมา
การประชุมเริ่มต้นโดยมีตัวแทนกรมวิชาการเกษตรฉายสไลด์เพื่อแจ้งว่าจะแก้ไขกฎหมายในประเด็นใดบ้าง โดยมีตัวแทนของเอกชน ซึ่งรวมทั้งยักษ์ใหญ่เมล็ดพันธุ์ข้ามชาติอย่างมอนซานโต้ แสดงความเห็นสนับสนุนรายละเอียดและเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายของคณะทำงาน ตอกย้ำว่าเบื้องหลังการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นไปเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อบรรษัทเป็นหลัก หาใช่เพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกรและการปกป้องทรัพยากรชีวภาพของประเทศแต่อย่างใดไม่
นอกเหนือจากการแก้ไขเล็กน้อยในมาตรา 60 ซึ่งช่วยให้การขึ้นทะเบียนเป็นชุมชน(ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่น)สามารถทำได้ง่ายขึ้นแล้ว (และจะเป็นข้ออ้างในการโฆษณาสร้างความชอบธรรมในการแก้กฎหมายครั้งนี้) ข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายที่เหลือทั้งหมด เป็นการนำเอาหลักการของ UPOV1991 เพื่อ ขยายสิทธิผูกขาดของบรรษัท จำกัดสิทธิเกษตรกร และเปิดทางให้บรรษัทไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์เมื่อเข้ามาใช้ทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ดังการแก้ไขในประเด็นต่อไปนี้
- ขยายเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งตามกฎหมายเดิมให้การคุ้มครองพันธุ์พืชส่วนใหญ่จาก 12 ปี เป็น 20 ปี
- ขยายการผูกขาดไม่ใช่เฉพาะส่วนขยายพันธุ์(เมล็ดพันธุ์)เท่านั้น แต่จะรวมไปถึงผลผลิต และผลิตภัณฑ์ด้วย หากมีการปลูกสายพันธุ์พืชใหม่ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต บริษัทจะสามารถฟ้องร้องยึดผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการปลูกพันธุ์พืชนั้นทั้งหมด
- ขยายการผูกขาดไม่ใช่เฉพาะพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น แต่รวมถึงสายพันธุ์ย่อย (essentially derived varieties -EDVs) สายพันธุ์ที่ไม่มีความเด่นชัดจากพันธุ์พืชอื่น หรือพันธุ์พืชซึ่งมีความแตกต่างจากพันธุ์อื่นๆในลักษณะที่ไม่เกิดประโยชน์ เป็นการเอื้ออำนวยให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ผูกขาดพันธุ์พืชอย่างกว้างขวาง และจะเป็นอุปสรรคของนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยในการเข้าถึงสายพันธุ์เพื่อใช้สำหรับการปรับปรุงพันธุ์
- มีการเปลี่ยนนิยามพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปที่บรรษัทจะต้องขออนุญาตเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ประเทศในกรณีที่นำไปใช้ในการวิจัยเพื่อการค้าและปรับปรุงพันธุ์ โดยนิยามให้ยกเว้น “พันธุ์พืชที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์” เป็นการเปิดช่องให้บรรษัทหลีกเลี่ยงการแบ่งปันผลประโยชน์จากการนำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปของประเทศไปใช้ประโยชน์ทางการค้า
- เพิ่มอำนาจรัฐมนตรีตามข้อเสนอของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชห้ามมิให้เกษตรกรนำพันธุ์พืชไปปลูกต่อได้ โดยความผิดของการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
- แก้ไขกฎหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งเดิมสัดส่วนของเกษตรกร ภาคเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ และนักวิชาการ ได้มาจากการเลือกตั้งกันเอง ให้มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีเท่านั้น
โดยเหตุที่ไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดของกฎหมายที่ปรับแก้แล้ว จึงน่าจะมีประเด็นที่น่าห่วงใยมากกว่าทั้ง 6 ประเด็นหลักที่ได้กล่าว
ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน เกษตรกรรายย่อย และประชาชนทั่วไป ต้องผนึกกำลังกันส่งเสียงคัดค้านและเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสารนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง ก่อนกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้บรรษัทผ่านสภานิติบัญญัติไปอย่างเงียบเชียบ 3 วาระรวด
ที่มา: BIOTHAI Facebook