ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ด้วยลมปาก งบเกษตรอินทรีย์ 0.7%

หากพิจารณาจากคำแถลงของรัฐบาลชั่วคราวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูเหมือนจะทำให้ประชาชนหลงเข้าใจว่า “นโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน/เกษตรอินทรีย์” คือนโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้ แต่จากการวิเคราะห์เรากลับพบว่าการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน/เกษตรอินทรีย์เป็นเพียงเรื่องลมๆแล้งๆ เนื่องจากงบประมาณของกระทรวงเกษตรที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมอินทรีย์มีไม่ถึง 1% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 จำนวน 86,000 ล้านบาท ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วาระเรื่องเกษตรกรรมอินทรีย์ปรากฎอยู่ในถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ซึ่งแถลงในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ดังความตอนหนึ่งว่า
“ประเทศไทยสามารถยกระดับการพัฒนามาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้ ก็ด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยรัฐบาลได้ดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมตลาดชุมชน –ลดกลไกพ่อค้าคนกลาง – สร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม”
(http://www.thaigov.go.th/index.php?option=com_k2&view=item&id=95859%3Aid…)

นโยบายเรื่องนี้ยังเป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วน 5 เรื่องสำคัญของ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ เพราะ “เกษตรอินทรีย์ เป็นเรื่องที่ให้ความสนใจ เพราะถ้าเป็นเกษตรอินทรีย์จะเป็นการผลิตที่ได้มาตรฐาน ไม่มีสิ่งเจือปน ขายได้ราคาดี รวมทั้งการทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตรงกับความต้องการของตลาด เพราะช่วงนี้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงควรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการตลาด”
(http://www.moac.go.t/main.php?filename=policy_chatchai)

อีกทั้งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2559-2564 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทย “เป็นศูนย์กลางการผลิต การบริโภค การค้า และ การบริการ เกษตรอินทรีย์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล”
(http://www.oae.go.th/ewt_news.php?nid=20865&filename=index)

ถ้อยคำสวยหรูเหล่านั้นขัดแย้งกับทิศทางของการจัดงบประมาณโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจากการวิเคราะห์เราพบว่า งบประมาณที่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์จาก “เอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 เล่มที่ 3” ซึ่งเสนอต่อสำนักงบประมาณนั้น มีงบประมาณซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงานมียอดรวมกันเพียงประมาณ 600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.7% ของงบประมาณทั้งหมดที่กระทรวงเกษตรฯได้รับเท่านั้น

งบประมาณดังกล่าวปรากฎอยู่ในงบประมาณของ กรมพัฒนาที่ดินประมาณ 500 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตร 70 ล้านบาท กรมปศุสัตว์ 5 ล้านบาท กรมหม่อนไหม 10 ล้านบาท และหน่วยงานอื่นๆอีกประมาณ 80 ล้านบาท

เรายังพบว่า มีงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงกับนโยบายเกษตรอินทรีย์ได้(แม้จะไม่โดยตรง) คือโครงการที่เกี่ยวกับศูนย์ปราชญ์ พิพิธพันธ์เกษตร และเงินอุดหนุนเศรษฐกิจพอเพียง รวมกันประมาณ 300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.3% ของงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงเกษตรฯ

การจัดการงบประมาณดังกล่าวชี้ให้เห็นกระแสครอบงำของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและการผลิตขนาดใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ในกระบวนการกำหนดนโยบายเกษตรกรรมและอาหารของประเทศ ตั้งแต่ผู้บริหารประเทศจนมาถึงองคาพยพต่างๆของหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

หมายเหตุ :
1) การวิเคราะห์งบประมาณเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากการตั้งหมวดงบประมาณที่อาจซ้ำซ้อนกันของหน่วยงาน และการตีความการใช้งบประมาณของหน่วยงาน ( เช่น ไบโอไทยประเมินงบประมาณตามโครงการเมืองเกษตรสีเขียวเพียง 80 ล้านบาทซึ่งน้อยกว่าความเป็นจริง จากงบประมาณปีละ 400 ล้านบาท เนื่องจากประเมินว่ากิจกรรมที่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ในโครงการดังกล่าว สัดส่วนส่วนใหญ่เป็นการส่งเสริมการผลิตที่ปลอดภัย GAP แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจเป็นการประเมินมากกว่าความเป็นจริงเนื่องจากงบประมาณ 400 ล้านบาท อาจเป็นการดึงงบประมาณของหน่วยงานต่างๆมาสมทบรวมกัน)

2) การวิเคราะห์นี้วิเคราะห์จากยอดงบประมาณ ไม่ได้ก้าวล่วงไปประเมินว่า งบประมาณเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ดังกล่าวเมื่อได้มีการดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆแล้วนั้น จะบรรลุเป้าหมายแค่ไหน เพียงไร หรือไม่

3) ดาวน์โหลดงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯที่เสนอต่อสำนักงบประมาณ (ซึ่งใกล้เคียงมากกับงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบจากสนช.และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว) ได้ที่
www.senate.go.th/w3c/senate/pictures/comm/1825/3.3.pdf

4) อ่านแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนจากข้อเสนอของเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนร่วมกับสภาพัฒน์ฯ ซึ่งควรที่กระทรวงเกษตรฯจะได้นำไปปรับใช้ได้ที่ https://www.facebook.com/biothai.net/photos/a.467826533255873.100128.183…

ที่มา: facebook BIOTHAI