มาตรา 190 ต้องเอื้อต่อความมั่นคงทางอาหาร

ไม่เพียงเกษตรกร ผู้ปลูกกระเทียมที่ค่อยๆ สูญสลายไปภายหลังข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างอาเซียนและจีนมีผลบังคับใช้ หรือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ต้องตัดใจขายวัวของตัวเองไปในราคาขาดทุนทันที ที่ไทยเริ่มลดภาษีให้ผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลีย หากแต่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศก็จำต้องยอมรับสภาพความเสี่ยงอันเกิดจากการขาด ความมั่นคงทางด้านอาหารไปด้วย เพราะถ้าวันใดประเทศคู่ค้าของเราไม่ส่งสินค้าเกษตรราคาถูกมาขายอีกต่อไป ประเทศไทยก็คงต้องอดบริโภคสินค้าชนิดนั้น หรือไม่ก็ต้องซื้อหามาในราคาแพงเพราะไม่สามารถผลิตสินค้าชนิดนั้นได้เอง มิติของอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นสิ่งที่มิอาจละเลยได้ในการเจรจา การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี จะมาชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของประเด็นดังกล่าว

การ ทำสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารอย่างไร

วิฑูรย์ : คือ ข้อตกลงระหว่างประเทศซึ่งมีหลายๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงเอฟทีเอ ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ข้อตกลงที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชีวภาพ ข้อตกลงเหล่านี้จริงๆ แล้วครอบคลุมเชื่อมโยงกันอยู่ ประเด็นสำคัญคือข้อตกลงเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อกฎหมายภายในประเทศ ต่อการจัดการทรัพยากร ต่อเกษตรกรและระบบการผลิตทั้งหมดของประเทศ โดยเฉพาะข้อตกลงเอฟทีเอที่เราทำกับประเทศต่างๆ มีรายละเอียดหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบ เช่น การตกลงให้มีการลงทุนจากต่างประเทศโดยเสรี ข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ข้อตกลงเรื่องการเปิดเสรีการค้าสินค้า ข้อตกลงเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องเกษตรและเรื่องอาหาร ยกตัวอย่างข้อตกลงเอฟทีเอที่ไทยเจรจากับสหรัฐอเมริกาเป็นข้อตกลงที่มีผล ผูกพันอย่างน้อย 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการเกษตร

เรื่องแรก คือ ข้อตกลงว่าด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา อเมริกาผลักดันให้ประเทศไทยขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งแต่เดิมคุ้มครอง เฉพาะสิ่งประดิษฐ์ทางอุตสาหกรรม ให้คุ้มครองมาถึงเรื่องพันธุกรรม การที่อเมริกาผลักดันตรงนี้จะนำไปสู่การที่บริษัทข้ามชาติสามารถเข้ามาใช้ ทรัพยากรในประเทศได้อย่างเต็มที่ เดิมทีกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต จริงอยู่นักวิชาการไทยบางส่วนสามารถจดสิทธิบัตรได้บ้าง แต่สัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทข้ามชาติ แม้กระทั่งรัฐบาลอเมริกาเองก็มีความสามารถในการจดสิทธิบัตรทรัพยากรชีวภาพ น้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทข้ามชาติ ตัวพันธุ์พืชเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นฐานรากของระบบอาหาร พันธุ์พืชทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในป่าเขตร้อน ประเทศไทยก็อยู่ภายใต้ระบบนิเวศน์ที่ว่า และเราก็ทำการเกษตรมาช้านาน เรามีพันธุ์พืชพันธุ์ดีมากมาย เราได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของไม้ผลเมืองร้อน การเปิดโอกาสให้มีการจดสิทธิบัตรก็คือการเปิดโอกาสให้บริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามา ยึดครองพันธุ์พืชและพันธุกรรม ท้ายที่สุดระบบอาหารก็จะตกอยู่ในมือของบริษัทขนาดใหญ่ ปัจจุบันสัดส่วนต้นทุนของพันธุ์พืชมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกทีในระบบการผลิตอาหาร ทันทีที่ไทยเปลี่ยนจากการปลูกพืชพันธุ์ท้องถิ่นมาสู่การปลูกพืชพันธุ์ที่ บริษัทคิดค้น ต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์จะเพิ่มขึ้นจนถึง 1 ใน 3 ของต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก  

ถ้าเขาสามารถจดสิทธิบัตรได้เขาจะไม่ได้คุมแค่พันธุ์พืชเท่านั้น แต่เขาจะสามารถควบคุมการแปรรูปและการจัดจำหน่ายได้ด้วย ถ้าอ่านกฎหมายสิทธิบัตรจะพบว่าเจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิผูกขาดทั้งตัวพันธุ์ พืช ต้นพืช เมล็ดพันธุ์ แม้กระทั่งผลผลิตอื่นใดที่เกี่ยวข้อง นี่คือเรื่องที่น่ากังวล

ประเด็นที่ สอง คือ การเปิดโอกาสให้มีการลงทุนจากต่างชาติโดยเสรี สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ต้องการผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดเสรีในทุกเรื่องรวมถึงเรื่องการเกษตร คำว่าเปิดเสรีหมายถึงการที่ประเทศไทยต้องเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนใน ทุกกิจการเสมือนกับที่คนไทยลงทุน ถ้าเราปล่อยให้มีการลงทุนขนาดนั้นหมายความว่าประเทศอุตสาหกรรมที่มี เทคโนโลยี มีเงินมหาศาล ก็จะสามารถเข้ามาทำการผลิตหรือยึดครองที่ดินได้

การลงทุนโดยเสรีเราไม่สามารถควบคุมต่างชาติเพื่อคุ้มครองคนในชาติได้ เมื่อไหร่ที่เราเปิดให้มีการลงทุนโดยเสรี หมายความว่ากฎหมายภายในที่เราออกมาเพื่อกำหนดสัดส่วนการลงทุนก็จะต้องถูก แก้ไข เช่น พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ซึ่งขึ้นบัญชีการผลิตสินค้าเกษตรว่าไม่เปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาดำเนิน การ เขาก็จะสามารถเข้ามาดำเนินการได้ 100% ตอนนี้เราเปิดให้แค่ 49% ไม่สามารถถือครองที่ดินได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ภายใต้ตกลงเอฟทีเอเขาจะครอบครองที่ดินได้มากกว่า คำว่าประเทศชาติ เขตแดนจะเป็นเรื่องที่ไม่มีความหมายอีกต่อไป

ประเด็นที่ สาม คือ การเปิดเสรีสินค้า หมายความว่าต้องมีการลดภาษีให้เหลือ 0% สำหรับสินค้าเกษตร เมื่อใดก็ตามที่ผลผลิตการเกษตรต่างประเทศมีราคาต่ำกว่า ถ้าเราไม่มีกำแพงภาษีมันก็จะไหลทะลักเข้ามาในประเทศ หลายประเทศที่ผลิตสินค้าอาหารและการเกษตรราคาถูก ไม่ใช่เพราะกลไกตลาดแต่ราคาถูกเพราะรัฐบาลให้เงินอุดหนุนจำนวนมหาศาล

ยกตัวอย่างการเจรจาเอฟทีเอกับอเมริกา สินค้าข้าวโพดและถั่วเหลืองของสหรัฐอเมริกาสามารถขายได้ในราคาขาดทุนเพราะ ได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ถ้าเอฟทีเอระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกามีผลบังคับใช้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองของไทยก็จะเลิกปลูกเพราะไม่สามารถแข่ง ขันได้ ประโยชน์จะตกกับคนที่รับซื้อข้าวโพดและถั่วเหลือง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองในสหรัฐอเมริกา บริษัทข้ามชาติที่ขายพันธุ์ถั่วเหลือง ขายยาปราบวัชพืช แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นคือฐานการผลิตของคนไทยจะถูกทำลาย

แม้กระทั่งเรื่องข้าวซึ่งเราเป็นประเทศที่ได้เปรียบในการส่งออก เพราะเรามีข้าวพันธุ์ดี เราผลิตข้าวในราคาที่แข่งขันได้ในตลาดโลก แต่ถ้ามีการเปิดเสรีภายใต้ข้อตกลง AFTA ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งต้นทุนผลิตต่ำกว่าเราก็จะทะลักเข้ามาในประเทศ ขนาดยังไม่เปิดเสรียังมีข้าวเถื่อนทะลักเข้ามาเป็นล้านตัน เกษตรกรไทยจะเลิกปลูกข้าวเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ ปัญหาคือต่อไปประเทศไทยจะไม่สามารถรักษาฐานการผลิตด้านอาหารของตัวเองได้อีก เลย

ปัญหาเหมือนไม่น่าจะมี แต่ใครจะรับประกันว่าถ้าเกิดวิกฤติการด้านอาหาร ด้านพลังงาน ภัยธรรมชาติ เราจะหาอาหารจากไหน เหตุการณ์ปี 2551 เราคงจะเห็นว่าแม้จะมีเงินขนาดไหนเขาก็ไม่ยอมขายข้าว ทั้งเขมร เวียดนาม อินเดีย ประกาศระงับการส่งออกข้าว เราจึงเห็นประเทศร่ำรวยต้องเสาะแสวงหาแหล่งปลูกพืชและผลิตอาหาร นั่นเป็นเพียงกรณีที่เกิดจากวิกฤติน้ำมัน แต่วิกฤติที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหารมีอีกหลายสิบปัจจัย ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสงคราม ภัยพิบัติจากธรรมชาติ สภาวะโลกร้อน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ฯลฯ

ทำไมเราต้องกังวลเรื่องความมั่น คงทางอาหารกับการทำเอฟทีเอ

ที่ผ่านมาการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ชาวบ้าน เกษตรกร และผู้บริโภคห่างไกลเกินกว่าจะรับรู้และมีส่วนร่วม แต่ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศจะกระทบโดยตรงต่อความอยู่รอดของเกษตรกร ผู้บริโภค และคนในประเทศทั้งหมด ถ้าเราปล่อยให้ข้อตกลงระหว่างประเทศตกลงกันโดยที่สังคมและคนในประเทศไม่ได้ ตรวจดูรายละเอียด ข้อตกลงนั้นจะเป็นผลประโยชน์ของใคร ผมยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ปรากฏว่าเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมเจ๊งไปประมาณ 30% ทันทีที่ข้อ ตกลงเริ่มมีผลบังคับใช้ แต่เรายอมเพราะได้ประโยชน์คือการที่เราสามารถส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าพวกกุ้งและอาหารทะเล   ในขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 30% ต้องล้มละลาย แต่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ส่งออกอาหารทะเลมียอดขายเพิ่มขึ้นปีแรกกว่า 50% ธุรกิจยานยนต์ส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 70% ถ้าเราตรวจดูให้ดีข้อตกลงนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่มีทุนยักษ์ใหญ่ใน ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่มาจากทุนยักษ์ใหญ่ที่ผลิตสินค้าอาหารทะเล ส่งออก กลายเป็นว่าข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลสำคัญต่อชะตากรรมของเกษตรกรและระบบ อาหารของประเทศ อยู่ในมือของคนตัดสินใจที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แม้สังคมได้รับคำอธิบายว่าได้ประโยชน์ แต่ถามว่าผลประโยชน์ตกอยู่กับใคร

โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลพูดชัดเจนว่า ข้อตกลงเอฟทีเอทั้งหลายผลประโยชน์ตกอยู่ในมือของประเทศอุตสาหกรรมและคนกลุ่ม น้อย แต่ผลกระทบตกอยู่กับประเทศกำลังพัฒนาและคนส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นนี่คือเหตุผลว่าทำไมการทำเอฟทีเอ เกษตรกรกับผู้บริโภคและประชาชนทั้งประเทศต้องเข้าไปดูแลข้อตกลงนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของพวกเราโดยตรง

กระบวนการทำเอฟทีเอที่ดีควรเป็น อย่างไร

ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนชัดเจนว่า เราต้องการรู้ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะลงนามว่าข้อตกลงนั้นมีรายละเอียดอย่างไร ข้อตกลงแทบทั้งหมดในอดีตเราจะทราบก็ต่อเมื่อลงนามไปแล้ว เช่น ข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย เราทราบเมื่อมีการลงนามแล้ว ซึ่งไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงเพราะยากที่จะแก้ไขสัญญา ข้อตกลงที่เราทำกับจีนประชาชนรู้เมื่อทำไปหลายปีแล้ว ข้อตกลงที่ทำกับญี่ปุ่นเขาอนุญาตให้เราส่งตัวแทนเข้าไปดูไม่กี่ชั่วโมง ต้องเวียนกันเข้าไปดู ถ่ายเอกสารออกมาไม่ได้ แล้วหนังสือสัญญาหนาเป็นพันหน้า การเปิดเผยข้อมูลแบบนั้นหรือที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่เราเรียกร้องคือ ต้องมีการเปิดเผยข้อสัญญาก่อนการลงนาม และต้องมีการแปลสนธิสัญญาเป็นภาษาไทย

กระบวนการตัดสินใจ กระบวนการต่อรอง เกษตรกรและประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการ กำหนดประเด็นในการเจรจา

ประเด็นเรื่องอธิปไตยทางอาหารกับ การเจรจาการค้าระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างไร

ข้อตกลงเอฟทีเอจำนวนมากจะถูกโฆษณาว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีในท้าย ที่สุดคือผู้บริโภค เราอาจจะยอมให้เกษตรกรสักล้านครอบครัวล่มสลาย ต้องเปลี่ยนอาชีพ เพื่อแลกกับสินค้าเกษตรและอาหารราคาถูกจากต่างประเทศ แต่ความเป็นจริงพบว่าผลของการทำเอฟทีเอตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาโฆษณา   ผมยกตัวอย่างที่ชัดเจนคือข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ประเทศเม็กซิโกซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของข้าวโพด เมื่อทำข้อตกลง NAFTA ระหว่าง แคนาดา อเมริกา และเม็กซิโก ปรากฏว่าข้าวโพดของอเมริกาซึ่งถูกกว่าข้าวโพดเม็กซิโกครึ่งหนึ่งเพราะรัฐบาล อเมริกาให้การอุดหนุน ได้ไหลทะลักเข้าไปในเม็กซิโกเป็นจำนวนมาก เกษตรกรเม็กซิโกจำนวนมากจึงต้องล่มสลายไปไม่สามารถแข่งขันได้ ขณะที่ราคาอาหารของเม็กซิโกกลับเพิ่มสูงขึ้น การที่ได้ข้าวโพดราคาถูกสำหรับผลิตอาหารน่าจะทำให้แป้งข้าวโพด (ตอตินญ่า) ของชาวเม็กซิโกมีราคาถูกลง แต่ในช่วงเวลา 8 ปีของการทำเอฟทีเอปรากฏว่าราคาของตอตินญ่าแพงขึ้น 300% คนที่ได้ ประโยชน์จากการเปิดเสรีจึงไม่ใช่ผู้บริโภค แต่เป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์ บริษัทปุ๋ยเคมี ซึ่งขายผลิตภัณฑ์ให้เกษตรกรอเมริกา และคนนำเข้าสินค้าอาหารไปเม็กซิโกซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เช่นเดียวกัน

เพราะเหตุใดผู้บริโภคจึงไม่ได้ รับประโยชน์ที่ควรได้รับจากการค้าเสรี

เราจะเห็นว่าการค้าในโลกไม่ได้เป็นการค้าเสรีอย่างที่เราเข้าใจ เราต้องดูว่าระบบอาหารอยู่ในมือใคร บริษัทค้าธัญพืชก็เป็นเจ้าของเดียวกับบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์และปัจจัยการ ผลิต กลุ่มเหล่านี้จึงสามารถควบคุมกลไกราคาในตลาดโลกได้ตามอำเภอใจ ยกตัวอย่างประเทศไทย กรณีรัฐบาลต้องการควบคุมราคาไก่แต่ทำไม่ได้ เพราะเนื้อไก่และไข่ไก่ มีบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัทที่ควบคุมการผลิตลูกไก่และอาหารไก่ เมื่อไหร่ที่ราคาไก่ตกต่ำเขาจะไปจัดการควบคุมปริมาณการผลิต ซึ่งไม่ใช่การแข่งขันเสรี ที่สำคัญคนที่ควบคุมการผลิตและคนที่ควบคุมการจัดจำหน่ายก็เป็นคนกลุ่มเดียว กัน กลไกการค้าขายสินค้าเกษตรจึงถูกดึงมาอยู่ในมือบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย เดี๋ยวนี้การค้าอาหารส่วนใหญ่อยู่ในมือห้างขนาดใหญ่ที่ควบคุมเรื่องการค้า ปลีก การที่รัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายเอฟทีเอ เมื่อเขาเห็นว่าข้าวโพดมีความต้องการสูง เขาก็เสนอให้รัฐบาลนำเข้าข้าวโพดโดยไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ข้าวโพดราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านไหลทะลักเข้ามา ผู้บริโภคของเราจึงไม่ได้อยู่ในมือที่มองไม่เห็นตามหลักการเศรษฐศาสตร์ แต่อยู่ในมือที่มองเห็นไม่กี่มือของบริษัทยักษ์ใหญ่

ถ้าเราย้อนดูเราจะเห็นว่าจุดเด่นของประเทศไทยที่เราเป็นผู้ผลิตอาหารไม่ได้ เกิดขึ้นจากการที่เรามียักษ์ใหญ่แต่เกิดขึ้นจากการที่เรามีเกษตรกรรายย่อย การผลิตของเกษตรกรรายย่อยมีหลักประกันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้ เขาผลิตเองกินเอง เหลือเขาก็กระจายไปสู่สังคมไม่มีใครผูกขาดได้ แต่เมื่อใดที่การผลิตขึ้นอยู่ในมือบริษัทยักษ์ใหญ่เขาก็จะเป็นผู้กำหนดตลาด แล้วการค้าเสรีก็จะทำให้การผลิตของรายย่อยกลายเป็นของรายใหญ่มากขึ้นๆ ทุกที

ทำอย่างไรให้การเจรจาการค้า ระหว่างประเทศเอื้อต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร

เท่าที่ผ่านมากระบวนการในการตัดสินใจในการกำหนดประเด็นการเจรจาจะมีคนที่ เกี่ยวข้องอยู่ไม่มากนัก หมายความว่าในท้ายที่สุดข้อตกลงต่างๆ ก็จะเอื้อประโยชน์ให้คนที่มีบทบาทในการเจรจาและมีบทบาทในการตัดสินใจ ซึ่งบทเรียนทางประวัติศาสตร์บอกชัดเจนว่าผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับคนส่วน ใหญ่ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่ควรจะเป็นต้องเป็นข้อตกลงที่มีดุลยภาพระหว่างการค้า และการพัฒนา ในยุคปัจจุบันคงไม่อาจหลีกหนีการค้าระหว่างประเทศได้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือข้อตกลงต้องเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและการอยู่รอดอย่าง มั่นคงของทุกฝ่ายในประเทศด้วย  บางประเทศก็ใช้หลักการนี้ในการโฆษณา อย่างประเทศญี่ปุ่นใช้คำว่า “หุ้น ส่วนทางเศรษฐกิจ” ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ แต่ไปดูแล้วไม่ใช่หุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน คนที่ได้ประโยชน์คือยักษ์ใหญ่การเกษตร และยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งไทยและญี่ปุ่น เราอยากเห็นข้อตกลงระหว่างประเทศคำนึงถึงคนที่เกี่ยวข้องให้ได้ประโยชน์ร่วม กัน และให้การค้าเป็นเครื่องมือของการพัฒนามนุษย์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม  

ขณะนี้ทุกประเทศกำลังเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงและปัจจัยเสี่ยงมากมาย ทุกอย่างกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ การมีหลักประกันเรื่องอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ชีวิตอยู่รอด และประเทศเกิดความมั่นคง แม้ขณะนี้เราจะสามารถรักษาความมั่นคงได้ระดับหนึ่ง แต่การค้าระหว่างประเทศที่มุ่งผลกำไรของคนบางส่วนกำลังทำลายความมั่นคงดัง กล่าว สังคมไทยจึงต้องดำเนินการฟื้นความมั่นคงตรงนั้นโดยเร็ว อาจจะต้องเริ่มต้นจากประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกันก่อน และนำประเด็นผลประโยชน์ของคนทั้งสังคมเป็นประเด็นหลักในการเจรจา ในแง่นี้เป็นหลักประกันว่าข้อตกลงนั้นจะเป็นประโยชน์ แต่ต้องมีกลไกการกำหนดประเด็นในการเจรจา กระบวนการเจรจา และการตัดสินใจการเจรจา ที่ต้องเปิดโอกาสให้คนทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้อย่าง เท่าเทียมกัน

ที่มา: ชุดโครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ด้านสิทธิที่เชื่อมโยงกับสุขภาวะ