เกี่ยวกับมูลนิธิ

มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BIOTHAI) ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของ นักกิจกรรมทางสังคม เกษตรกร นัก วิชาการ ข้าราชการ และสมาชิกในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ตระหนักในประเด็นความสำคัญ ปัญหา และทางออกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ พัฒนา ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ/ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิทธิชุมชน ความมั่นคง/อธิปไตยทางอาหาร เกษตรกรรม/การพัฒนาที่ยั่งยืน และการค้าที่เป็นธรรม

ชื่อของไบโอไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2538 เพื่อเป็นชื่อเรียกสั้นๆเป็นภาษาอังกฤษของ “เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย” (Thai Network on Community Rights and Biodiversity) ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในประเทศไทย โดยงานสำคัญในระยะแรกของไบโอไทยคือการวิเคราะห์และเผยแพร่เนื้อหาของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในแง่มุมต่างๆต่อสาธารณชน การผลักดันกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การจัดประชุมระหว่างประเทศและประสานงานระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและชุมชนในทรัพยากรชีวภาพในประเทศโลกที่สาม รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักในปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรพันธุกรรมโดยบรรษัทข้ามชาติและประเทศอุตสาหกรรม ในปี 2542 ไบโอไทยได้จัดตั้งเป็นองค์กรขึ้นอย่างถาวรเพื่อสนับสนุนการทำงานของเครือข่าย โดยใช้ชื่อว่า “องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย” (Biodiversity & Community Rights Action Thailand)  เนื่องจากงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น ได้ขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้น สมควรที่จะมีองค์กรที่สนับสนุนทางด้านข้อมูล วิชาการ และอื่นๆแก่เกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าวอย่างถาวร ไบโอไทยได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิอย่างเป็นทางการเมือปี 2549 ภายใต้ชื่อ “มูลนิธิชีววิถี” โดยคงชื่อภาษาอังกฤษว่า “ไบโอไทย” (BioThai)  เพื่อสืบทอดสายธารแห่งการทำงานเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2538  แม้ว่าในระยะหลังบทบาทของไบโอไทยได้ขยายวงไปสู่ประเด็นที่กว้างขวางมากขึ้น เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การติดตามบทบาทบรรษัท และการค้าที่เป็นธรรม เป็นต้น

ล่าสุดไบโอไทยได้ปรับชื่อ เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบงานมากขึ้นเป็น “เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อความหลายหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมยั่งยืน และอธิปไตยทางอาหาร ประเทศไทย”

วัตถุประสงค์ขององค์กร

  • ศึกษาวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชน
  • ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชนแก่ประชาชนทั่วไป
  • เสนอแนะและพัฒนานโยบายสาธารณะทีเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร การพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

กิจกรรมสำคัญ

  • สนับสนุนบทบาทและความเข้มแข็งของเกษตรกร  ชุมชนท้องถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรชีวภาพ  ปัจจุบันมูลนิธิได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาคีต่างๆเพื่อให้การสนับสนุนชุมชนมากกว่า 400 ชุมชนทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ฟื้นฟูและพัฒนาการใช้ประโยชน์พันธุกรรมข้าว ผักพื้นบ้าน ไม้ผลเมืองร้อน เพื่อยกระดับการพึ่งพาตนเองและความมั่นคงทางอาหาร
  • ร่วมกับชุมชนและเครือข่ายต่างๆรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารท้องถิ่น เช่น สูตรน้ำพริก อาหารจากถั่ว อาหารจากผักพื้นบ้าน ฯลฯ ขับเคลื่อนการรณรงค์ภายใต้ชื่อ “กินเปลี่ยนโลก” หรือ “Food for Change” เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักและเปลี่ยนวิถีการบริโภคมาสนับสนุนวิถีการผลิตของชุมชนท้องถินที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีระบบการผลิตที่ยั่งยืน คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สร้างความเท่าเทียมและเกื้อกุลระหว่างเกษตรกร/ชุมชนท้องถิ่นกับผู้บริโภค
  • รณรงค์และเผยแพร่ปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพ เช่น การเคลื่อนไหวต่อต้าน “โจรสลัดชีวภาพ” เช่น กรณีการจดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิไทย ติดตามและตรวจสอบผลกระทบของพันธุวิศวกรรมต่อระบบเกษตรและอาหาร ในกรณีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของพืชดัดแปลงพันธุกรรม เช่น ฝ้ายบีที มะละกอจีเอ็มโอต้านทานโรคใบด่างจุดวงแหวน ข้าวโพดบีที และถั่วเหลืองราวด์อับเรดดี้  โดยรายงานสถานการณ์และปัญหาดังกล่าวต่อสาธารณชนละสื่อมวลชนอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
  • ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดนโยบายและกฎหมายเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้กฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะ (sui generis) เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542  คัดค้านนโยบายการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์และการทดลองในสภาพเปิดที่ขาดการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ร่วมก่อตั้ง “กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเส รีภาคประชาชน” หรือ “เอฟทีเอว็อทช์” เมื่อปี 2547 ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาชน เพื่อติดตามและเคลื่อนไหวปัญหาของการเปิดเสรีการค้าที่มีผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการการรายย่อย และร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ติดตามบทบาทบรรษัท” เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกิจกรรมซึ่งสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่นคงทางอาหาร
  • ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆเพื่อสร้างความร่วมมือของประชาชนและความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายระหว่างประเทศที่เกียวกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมยั่งยืน การค้าที่เป็นธรรม และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

แผนงานและกิจกรรมที่เป็นความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ

  •  “แผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร” มูลนิธิชีววิถีทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักและดูแลการบริหารแผนงาน โดยมีภาคีหลัก ประกอบไปด้วย  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน อุบลราชธานี ,เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ คาบสมุทรสทิงพระ สงขลา, เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อพัฒนา สังคมอ่าวพังงา, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ (มจช.) และมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี  โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน( FTA Watch)” มูลนิธิชีววิถีทำหน้าที่เป็นสำนักงานติดต่อของกลุ่ม ติดตามภาพรวมของข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ประเทศไทยดำเนินการกับประเทศต่างๆ และรับผิดชอบติดตามและวิเคราะห์ประเด็นผลกระทบด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรชีวภาพ และเกษตรกรรายย่อย
  • “กลุ่มติดตามบทบาทบรรษัท( Corporate Watch)” มูลนิธิเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มโดยรับผิดชอบติดตามบรรษัทที่มีการค้าการลงทุนเกี่ยวกับทรัพยากรพันธุกรรม และระบบอาหาร
  • กินเปลี่ยนโลก (Food for Change) ” เป็นกิจกรรมรณรงค์ร่วมกันระหว่างมูลนิธิชีววิถี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชุมชนคนรักป่า และสถาบันต้นกล้า เพื่อรณรงค์วัฒนธรรมอาหารที่สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นที่มีคุณภาพ เพื่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
  • คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Working Group for Climate Justice:TCJ)” ร่วมก่อตั้งคณะทำงาน ฯ ติดตามกระบวนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับสากลและ ระดับประเทศ  สนับสนุนเครือข่ายท้องถิ่นในการวิเคราะห์สถานการณ์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาผล กระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากมาตรการแก้ปัญหาการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับ ตัวของเกษตรกรรายย่อย
  • เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN) เป็นการเชื่อมร้อยของกลุ่มนักวิชาการจากหลากหลายสาขาองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตรและการคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มเกษตรกรที่ตระหนักถึงความอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ในการขึ้นทะเบียน การนำเข้า การโฆษณา การจำหน่าย และการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงได้มีพันธะกิจในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของสารเคมีทางการเกษตรารสื่อสารสาธารณะและเตือนภัยปัญหาของสารเคมีเหล่านี้รวมไปถึงการขับเคลื่อนทางนโยบายด้านการจัดการและควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

องค์กรที่สนับสนุนทุนในการดำเนินงานของมูลนิธิ

นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรเมื่อปี 2538 เป็นต้นมา ไบโอไทยได้รับการสนับสนุนทุนในการดำเนินกิจกรรมจากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้

  • องค์กรระหว่างประเทศ  SSNC – Swedish Society for Nature Conservation, OXFAM Great Britain, GRAIN
  • หน่วยงานในประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) , กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program- BRT)

นอกเหนือจากองค์กรดังกล่าวแล้ว ยังมีเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไปเพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เช่น สิ่งพิมพ์ โปสเตอร์ สื่อรณรงค์ต่างๆ เป็นต้น นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา งบประมาณการดำเนินงานของมูลนิธิที่ได้จากการสนับสนุนจากภายในประเทศมีสัดส่วนประมาณ 85% ของงบประมาณทั้งหมด

เว็บไซต์เกี่ยวกับการดำเนินงานของมูลนิธิ

https://www.biothai.net

กินเปลี่ยนโลก

https://www.biothai.org