หากร่างกายและทุกเซลล์ของมนุษย์มีกลไกเรียนรู้เพื่อปกป้องตัวเองจากการบุกรุกเข้ามาทำลายของโรคหรือสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก พืชพรรณธัญญาหารที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารและการเยียวยาตนเองคืออีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราได้เติบโตและมีชีวิตรอดสืบสายวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน
ในสมรภูมิโรคระบาด เราไม่อาจมีชีวิตรอดได้จากการพึ่งพาเพียงอาวุธชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะทุกเครื่องมือมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ประโยชน์ การเรียนรู้และการนำมาปรับใช้เป็นกุญแจในการดำเนินชีวิตของเรา
ชีวสารสนเทศ (bioinformatics) เปิดโอกาสให้นักวิจัยนำแบบจำลองของสารจากพืชและโปรตีนในไวรัสและร่างกายมนุษย์ มาสร้างแบบจำลองพันธะระหว่างสารแต่ละชนิด ตั้งแต่กลไกการเข้าสู่เซลล์ การถ่ายทอดรหัส การขยายและแพร่เชื้อของไวรัสในร่างกายมนุษย์ นำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ ซึ่งขึ้นอยู่ว่าเราจะนำความรู้นั้นเพื่อเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การผสานความรู้ดั้งเดิมในการรักษาโรค การสร้างภูมิคุ้มกัน ไปจนถึงการนำไปสู่การพัฒนายาสมัยใหม่
นับตั้งแต่วันแรกที่โลกรับรู้ถึงความร้ายแรงของการระบาดที่อู๋ฮั่น นักวิจัยจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย ได้ค้นหาสารจากพืชเพื่อนำมาต่อกรกับไวรัสและเยียวยาผู้คน ณ เวลาปัจจุบันมีสารจากพืชที่ค้นพบจากการศึกษาแบบจำลองโมเลกุล (molecular docking) ดังกล่าวแล้วกว่า 50 ชนิด และน่าสนใจว่าจำนวนมากของสารที่มีศักยภาพในการป้องกันเชื้อให้เข้าสู่เซลล์และยับยั้งการขยายและแพร่เชื้อนั้นอยู่ในองค์ประกอบต่างๆของอาหารที่เรารับประทานเป็นประจำนี่เอง
หนึ่งในองค์ประกอบอาหารที่รวบรวมสารสำคัญจากพืชพรรณต่างๆเอาไว้มากที่สุด คือ “เครื่องแกงปักษ์ใต้” ซึ่งมีองค์ประกอบของพืช 8 ชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและต้านไวรัส ดังนี้
1.ขมิ้น มีสาร curcumin และอนุพันธ์ ที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้าสู่เซลล์ปอด และยับยั้งการแพร่ขยายของไวรัส (Yang at al., 2020) และ (Guijarro-Real at al., 2021)
2.ข่า มีสาร galangin มีคุณสมบัติในการยับยั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้าสู่เซลล์ปอด และยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ ( Utomo RY, et al., 2020) มีสาร 1,8 cineole ยับยั้งการแพร่ขยายของไวรัส รวมทั้งสาร kaempferol, quercetin ที่ต้านอาการอักเสบ (Sharma, A.D. at al., 2020)
3.มะกรูด มีสาร hesperedin มีคุณสมบัติในการยับยั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้าสู่เซลล์ปอด (Cheng L, et al., 2020) ยับยั้งการแพร่ขยายของไวรัส (Utomo, R.Y. at al., 2020) และมีสาร naringenin ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกัน (Khaerunnisa S, et al., 2020)
4. กระเทียม มีสาร quercetin, allicin ยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์ปอด มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่ขยายของไวรัส (Rajagopal K, at al., 2020) (Pandey P,at al., 2021) (Khaerunnisa S, et al., 2020)
5.พริก มีสาร quercetin, luteolin-7-glucoside ยับยั้งการแพร่ขยายของไวรัส (Khaerunnisa S, et al., 2020)
6. ตะไคร้ มีสาร Citral ยับยั้งการแพร่ขยายของไวรัส (N. Shaghaghi., 2020) และต้านการอักเสบ (Boukhatem MN at al., 2014)
7.พริกไทย มีสาร piperine มีฤทธิ์ยับยั้งการขยายตัวของไวรัส (Selvaraj Alagu Lakshmi at al., 2020) และ (Tiwari A, et al., 2020)
8.หัวหอม มีสาร quercetin, luteolin-7-glucoside ที่ช่วยยับยั้งการขยายและแพร่ไวรัส (Khaerunnisa S, et al.,2020)
หากยังไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสแกงใต้ แต่อย่าลืมมองหาและทำให้พืช/สมุนไพรเหล่านี้ 1, 2, 3, .. ชนิด หรือมากกว่านั้น ปรากฎในจานอาหารของคุณเสมอ
สมรภูมิใหญ่ที่สุดในการขับเคี่ยวกับโรคระบาด อาจไม่ใช่บนเตียงในโรงพยาบาล แต่เป็นบนโต๊ะอาหารของเรานี่เอง