ปัญหาเปิดเสรีมะพร้าว

รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์เพิ่งอนุญาตให้มีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศปริมาณ 32,543 ตัน ตามเสียงเรียกร้องของอุตสาหกรรมมะพร้าว แต่ก็สร้างความกังวลว่าการนำเข้ามะพร้าวจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคามะพร้าวดิ่งเหวเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2561 ที่ผ่านมาหรือไม่



หากพิจารณาภาพรวมของปัญหาการเปิดเสรีสินค้าเกษตรตั้งแต่อดีต เราจะเห็นว่ารัฐยังขาดการกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร โดยปล่อยให้สินค้าเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารเข้าไปอยู่ภายใต้กรอบการเจรจาการค้าที่มุ่งให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหารมากกว่าการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรรม/อาหารที่ยั่งยืน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในอนาคต

มะพร้าว ข้าว และสินค้าเกษตรกรรมอีกหลายรายการควรได้รับการพิจารณาให้เป็นสินค้าอ่อนไหวซึ่งต้องยกเว้นการเปิดเสรีทางการค้า โดยรัฐอาจสามารถพิจารณาให้มีการผ่อนปรนเกี่ยวกับการนำเข้าได้ตามความจำเป็นและตามความเหมาะสมแทน

ก่อนความตกลงทางการค้าเหล่านี้จะมีผล หน่วยงานของรัฐและผู้เจรจาฯอ้างว่ามีมาตรการในการปกป้องผลกระทบ เช่น มาตรการเซฟการ์ด และการป้องกันการทุ่มตลาด เป็นต้น แต่เมื่อเกิดผลกระทบในกรณีมะพร้าวราคาดิ่งเหวเมื่อเร็วๆนี้ หน่วยงานเหล่านี้กลับบอกว่าไม่สามารถใช้มาตรการดังกล่าวได้ ด้วยข้ออ้างนานาประการ

ปัญหาการเปิดเสรีเรื่องมะพร้าว สะท้อนปัญหาการเปิดเสรีสินค้าเกษตรฯทั้งระบบ ทั้งเรื่องข้าว ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น โดยที่กติกาเกี่ยวกับเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทั้งประเด็นรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวกับสนธิสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศ กฎหมาย และกระบวนการทางนโยบาย ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่ได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วม หากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารยักษ์ใหญ่

เกษตรกรรายย่อยจำเป็นต้องผนึกกำลังกันเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทั้งเมื่อเกิดสถานการณ์เฉพาะหน้า และการเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดกติกาของประเทศ และกลไกทางนโยบายมากกว่าที่เป็นอยู่

เฉพาะประเด็นผลกระทบจากการเปิดเสรีเรื่องมะพร้าว เราเห็นพื้นที่ทางนโยบายอย่างน้อย 8 ประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ และร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดในตอนต่อไป

ที่มา: BIOTHAI Facebook