แผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในเอเชียคือ หายนะของโลก ธนาคารโลกเตือน

แผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นในทวีปเอเชียจะเป็น “หายนะระดับโลก” และเป็นการทำลายข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ปารีส ประธานธนาคารโลก (World Bank) กล่าวช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

ในการประกาศเตือนอย่างชัดเจนซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนี้ ประธานธนาคารโลก จิม ยอง คิม ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยแห่งภายใน 20 ปีข้างหน้านี้ ทั้งที่ได้ให้คำมั่นในข้อตกลงปารีสแล้วว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมุ่งหน้าสู่การใช้พลังงานสะอาดแทน

ในสหรัฐอเมกริกา การใช้ถ่านหินกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่บริษัท[ถ่านหิน]ที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาหลายแห่งกำลังล้มละลาย แต่กลับมีความต้องการใช้ถ่านหินจำนวนมากในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประชากรหลายล้านคนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เฉพาะจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รวมกันแล้วมีสัดส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ถึง 3 ใน 4 ของแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทั้งหมดของโลกภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้านี้ โดยอินเดียเพียงประเทศเดียวมีประชากรซึ่งไม่มีไฟฟ้าใช้ประมาณ 300 ล้านคน

“หากเวียดนามเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 40,000 เมกกะวัตต์ หากทั้งภูมิภาคเลือกผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินตอนนี้ ผมคิดว่าเราคงจบเห่” คิม แสดงความเห็นนอกสคริปต์ในการประชุม 2 วัน ระหว่างรัฐบาลและเอกชน ณ กรุงวอชิงตัน “มันจะเป็นหายนะของเราและโลกใบนี้”

ประเด็นหลักของการประชุมในครั้งนี้ คือ “การหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน – โดยถาวร – และทำให้พลังงานสะอาดราคาถูกลงและใช้งานได้จริงสำหรับประเทศต่างๆ แทนที่การใช้พลังงานฟอสซิล ด้วยพลังงานสะอาดเช่นลมและแสงอาทิตย์” ซึ่งนี่คือภารกิจใหม่จองธนาคารโลกด้วย 
ธนาคารโลกประกาศเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่าจะกันรายจ่าย 28% ไว้สำหรับในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุมในครั้งนี้เกิดขึ้น 2 สัปดาห์หลังจากที่รัฐบาลจาก 175 ประเทศยืนยันคำมั่นของพวกเขาในข้อตกลงปารีสในพิธีลงนามที่จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของกำหนดการรการประชุมอีกจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นระหว่างปี 2016 นี้ เพื่อพยายามทำให้สิ่งที่ตกลงกันได้จากปารีสเห็นผลเป็นรูปธรรมขึ้นก่อนจะถึงการประชุมประจำปีของอนุสัญญาครั้งใหม่สิ้นทีนี้ที่โมรอคโค 

ทั้งผู้นำภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนในการต่อรองเจรจาที่ปารีสต่างอยากหลีกเลี่ยงความเฉื่อยชาหลังจากที่ตกลงกันได้แล้ว

เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ บัน คี มูน ผลักดันอย่างหนักให้รัฐบาลต่างๆ เข้าร่วมข้อตกลงอย่างเป็นทางการและทำให้เกิดการบังคับใช้ก่อนที่บารัค โอบามา จะลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนมกราคม 2017 ซึ่งจะเป็นการปกป้องข้อตกลงดังกล่าวก่อนประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง (เช่น หากตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน โดนัล ทรัมพ์ ผู้ซึ่งปฏิเสธว่าโลกร้อนไม่ได้เกิดขึ้นจริง)

ตัวแทนจากภาครัฐและผู้นำธุรกิจที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้กล่าวว่า รัฐบาลต่างๆ ต้องเร่งมือกำจัดอุปสรรคการลงทุนพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา 

“เราต้องรักษาความไว้ใจที่ประชาชนให้ไว้กับเราหลังข้อตกลงปารีส” Hakima El Haite รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศโมรอคโคกล่าว ณ ที่ประชุม “ประชาชนจะไม่พูดว่า รอให้ถึงปี 2020 แล้วค่อยหาทางออก… พวกเขาจะไม่รอจนกว่าคณะกรรมการด้านการเงินจะออกมาพร้อมกับแถลงการณ์ฉบับใหม่ สิ่งที่พวกเขาต้องการ คือ ทางออก”

หนึ่งในความท้าทายที่สุด คือ แผนการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในเอเชีย จากข้อมูลของ Platts Energy พบว่า ประเทศจีนมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก 1.5 แสนเมกกะวัตต์ ภายในปี 2020 (ลดลงแล้วเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมาสร้างเพิ่มไป 2.7 แสนเมกกะวัตต์) และแม้ว่าประเทศอินเดียได้ประกาศแผนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่น่าชื่นชม แต่ก็ยังวางแผนพลังงานถ่านหินเพิ่มขึ้นเป็น 1.25 แสนเมกกะวัตต์ และประเทศอินโดนีเซียมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าตัวของตอนนี้ ซึ่งเท่ากับ 25,000 เมกกะวัตต์

John Roome เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประจำธนาคารโลกชี้ว่า หากโรงไฟฟ้าทั้งหมดนั้นถูกสร้างขึ้นจริงจะเป็นการทำลายความพยายามของทั่วโลกที่จะทำให้ข้อตกลงปารีสเป็นจริง นั่นคือการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส 
“หากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดในประเทศอินเดีย จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ถูกเปิดใช้งานขึ้นมาจริงๆ ก็เท่ากับว่าเรากำลังใช้งบดุลย์คาร์บอน (carbon budget) ส่วนใหญ่… จริงๆ คือทั้งหมดที่เรามีเหลืออยู่” Roome กล่าว “ซึ่งนั่นจะทำให้เราไม่สามารถรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 2 องศาได้” 

ขณะที่ Jeffrey Sachs ผู้อำนวยการ Earth Institute แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ใช้คำพูดตรงไปตรงมายิ่งกว่า เขากล่าวในที่ประชุมว่า “แค่อย่าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ขอร้องล่ะ เพราะเราจะใช้งบดุลย์คาร์บอนหมด”

ที่มา http://www.theguardian.com/environment/2016/may/05/climate-change-coal-power-asia-world-bank-disaster 
 

ที่มา: คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม